วันอังคารที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2557

นอภ.ประพันธ์ บุญคุ้ม สร้างสรรค์เพลงชุด “ เอกลักษณ์บางปลาม้า ”

  


  เพลงชุด “ เอกลักษณ์บางปลาม้า  ” สร้างสรรค์และอำนวยการ โดย .. นายประพันธ์ บุญคุ้ม  นายอำเภอ บางปลาม้า  จ.สุพรรณบุรี  ( 2550-2556 )

                  นายประพันธ์ บุญคุ้ม  นายอำเภอแหวนเพชร  ของ อำเภอบางปลาม้า   จังหวัดสุพรรณบุรี  เปิดใจ  สร้างสรรค์ผลงานเพลง ชุด  เอกลักษณ์บางปลาม้า  ”  เพราะอยากสื่อในหลายๆ เรื่องราว ที่เป็นเอกลักษณ์ ของอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อให้ ชนรุ่นหลัง  ได้  MEMORY  ไว้เป็นอีกหนึ่งความทรงจำดีๆ ผ่านบทเพลง  ชุด เอกลักษณ์บางปลาม้า ..

 

                    ผม เรวัติ  น้อยวิจิตร  ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์พลังชน  และ บรรณาธิการข่าว เว็บไซต์ สุพรรณอินชัวร์ดอทคอม  วันนี้ ได้รับเกียรติ จาก ท่านนายอำเภอบางปลาม้า  นายประพันธ์ บุญคุ้ม  เปิดเผยเรื่องราว ของบทเพลงที่ดังเจื้อยแจ้วอยู่ทุกๆเช้า  บนคลื่น สถานีวิทยุท้องถิ่นสุพรรณบุรี   หอกระจายข่าว  และ เสียงตามสาย ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ในพื้นที่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

 

                   ความเป็นมาของบทเพลงชุดนี้ .. นายประพันธ์ บุญคุ้ม  เปิดเผยว่า .. ผมได้ย้ายมาเป็น นายอำเภอบางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรี  ตั้งแต่ปี  2550 หลังเข้ารับตำแหน่ง  ได้ออกสำรวจพื้นที่  ดูวิถีชีวิต และ ความเป็นอยู่ของชาวบางปลาม้า ก็รู้สึกประทับใจ  อำเภอบางปลาม้า  เป็นอำเภอที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ  ประชากรมีฐานะดี  ชาวบ้านส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพ ทางการเกษตร   ทำนาข้าว  เลี้ยงกุ้ง  เลี้ยงปลา  ค้าขาย  เป็นแหล่งวัตถุดิบ ส่งออกสู่ชุมชนอื่นที่สำคัญ เช่น ปลาช่อนเผารสเด็ด ที่ขายดิบขายดี อยู่ที่ร้านอาหารดัง  ริมถนนวงแหวนตะวันตก  กว่าวันละ 500 ตัว ก็ถูกส่งไปจาก บางปลาม้า  บางปลาม้ายังเป็นแหล่งส่ง กุ้งก้ามกราม รายใหญ่ สู่ประเทศมาเลเซีย บางปลาม้า  มีกุ้งแม่น้ำ  ปลาม้า  ซึ่งนำมาปรุงเป็นอาหาร ที่ขึ้นชื่อ ซึ่งหากใครได้มาเยือน แล้วไม่ได้มาลิ้มลอง ก็ถือว่า ยังมาไม่ถึงบางปลาม้า ได้แก่  ต้มยำปลาม้า  กุ้งแม่น้ำทอดเกลือ  สาลีแม่บ๊วย ก็เป็นขนมอร่อยของบางปลาม้า  นอกจากนี้ บางปลาม้า ยังเป็นสถานที่พักผ่อน ในวันหยุด  มาท่องเที่ยว  มานอนพักในโฮมสเตย์   เรือนพักริมแม่น้ำ  มี รีสอร์ท  ที่สะอาด สะดวกสบาย ราคามิตรภาพ  อยู่หลายแห่ง  สำหรับท่านที่นิยม อาหารพื้นบ้าน  ที่บางปลาม้า ก็มีร้านอาหารพื้นบ้าน ที่ขึ้นชื่อ อยู่หลายแห่ง  เมนูเด็ด มีทั้ง ส้มตำแมงดา  ปลาช่อนเผา  ฯลฯ ท่านสามารถ  ทานที่ร้าน  ทานในเรือล่องไปตามแม่น้ำท่าจีน  ก็สามารถจัดได้  

Zoom ++ Click

          ตลาดเก้าห้อง  คำว่า "เก้าห้อง" นำมาจากชื่อบ้านเก้าห้อง ซึ่งเป็นบ้านของขุนกำแหงฤทธิ์ ตั้งอยู่ริมน้ำ ข้างวัดลานคา และอยู่ตรงข้ามตลาดเก้าห้อง เป็นบ้านเรือนไทย ฝาประกัน ใต้ถุนสูง ภายในบ้านแบ่งออกเป็น 9 ห้อง มีศาลปู่ศาลย่าเป็นที่เคารพบูชา ตลาดเก้าห้อง เป็นชุมชนร้านตลาด อยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านเก้าห้อง ตลาดนี้เคยคึกคักอยู่ เมื่อเจ็ดสิบแปดปีก่อน โดยมีบทบาท เป็นศูนย์กลางการค้าขายของชาวบ้าน ในทุ่งฟากตะวันตกของบางปลาม้า ทั้งยังเป็นทางผ่านของเรือเมล์โดยสาร ระหว่างสุพรรณ-งิ้วราย

            ตลาดเก้าห้อง ก่อสร้างโดยชาวจีนชื่อ ฮง ประกอบอาชีพค้าขาย และรับเหมาก่อสร้างจนร่ำรวย จึงต่อแพค้าขายอย่างถาวร อยู่หน้าบ้านเก้าห้อง แล้วเปลี่ยนชื่อจากฮง มาเป็นนายบุญรอด เหลียงพานิชย์ เพื่อความสะดวกสะดวกในการค้าขาย ด้วยกิตติศัพท์ความร่ำรวยของนายบุญรอด ล่วงรู้ไปถึงหมู่โจร จึงถูกบุกปล้นทรัพย์สินไปจำนวนหนึ่ง ทางอำเภอได้ออกสกัดจับโจรได้ทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น พร้อมนำทรัพย์สินมาคืน ต่อมานายบุญรอดคิดสร้างตลาด เพื่อค้าขายบนบก ชาวบ้านเรียกตลาดนี้ว่า "ตลาดเก้าห้อง" ซึ่งคำว่าเก้าห้อง นำมาจากชื่อบ้านเก้าห้องนั่นเอง 

           Zoom ++ Click
                 ตลาดเก้าห้องมีอยู่ 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดบน ตลาดกลาง และตลาดล่าง  หอดูโจรในตลาดเก้าห้อง  สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2477 โดยนายบุญรอด เหลียงพานิช เป็นหอก่ออิฐถือปูน กว้าง 3x3 เมตร สูงราวตึก 4 ชั้น มีบันไดขึ้น 4 ชั้น ชั้นบนเป็นดาดฟ้า แต่ละชั้นฝาผนังจะมีรูโต ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้ว เมื่อเราขึ้นไปบนยอดสุด จะมองเห็นทัศนียภาพ ทั้งทางน้ำและทางบก ตลอดจนตลาดเก้าห้องได้หมด

              สำหรับท่านที่ต้องการเห็น สภาพตลาดริมน้ำแบบดั้งเดิม นับวันแต่จะหายไป ท่านสามารถสัมผัสกับบรรยากาศได้ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นสภาพตลาด หอดูโจร บ้านเรือนไม้เก่า หรือชีวิตแบบเรียบง่าย ซึ่งใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำละคร (ดงดอกเหมย, ลอดลายมังกร) ภาพยนตร์ (อั้งยี่, แม่เบี้ย, ซีอุย, 7ประจัญบาน) นอกจากนี้ ยังถ่ายทำโฆษณา และมิวสิควีดีโอ มาแล้วมากมาย การค้าขายสินค้าท้องถิ่น อาทิเช่น ขนมจันอับ (ขนมเปี๊ยะ) กระหรี่พั๊บ ห่านพะโล้ เรือกาแฟ ก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า ขนมไทยพื้นบ้าน หัตถกรรมจักสาน เป็นต้น ที่ยังมีให้สัมผัสได้ทุกวัน  
           
Zoom ++ Click

                       
               นอกจากนี้ บางปลาม้า ยังมีประเพณีบุญบั้งไฟ จัดขึ้นในหมู่ไทยพวน ไทยเวียง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนพฤษภาคม เพื่อเป็นการบูชาเทวดาให้ฝนตกตามฤดูกาล มีการจัดเตรียมบั้งไฟแห่แหนไปวัดและยิงบั้งไฟที่วัด ปัจจุบันยังคงหาดูได้ในตำบลต่างๆ ของอำเภอบางปลาม้า   ประเพณีกำฟ้า  เป็นประเพณีสำคัญตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวไทยพวน ที่อาศัยกระจายไปอยู่ในหลายภูมิภาค เช่น ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี อุดรธานี หนองคาย แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และพิจิตร  ซึ่งชาวบางปลาม้า ก็ยังคงรักษาประเพณี ทั้งสองนี้ไว้



                    นายหลี บุญค้ำ เอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐประชาธิไตยประชาชนลาว ประจำประเทศไทย พร้อมด้วย นางวันแก้ว บุญค้ำ ภริยาเอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐประชาธิไตยประชาชนลาว ประจำประเทศไทย เดินทางมาร่วมงาน " กินข้าวแลงงันกัน ครั้งที่ 3 " ณ วัดตะลุ่ม ต.มะขามล้ม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี มี นายประพันธ์ บุญคุ้ม นายอำเภอบางปลาม้า นายวีระ หวลบุดตา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมะขามล้ม นายจำรัส ราชสิงห์ กำนันตำบลมะขามล้ม พร้อมด้วย ท่านปัณญวัฒน์ จันทร์ตรีกิติกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญาธนบุรี ให้การต้อนรับ



กุ้งทอดเกลือ ในเทศกาล งานกินกุ้ง กินปลา บางปลาม้าอาหารรสเด็ด


Pic_181839




    
                  ท่านนายอำเภอ เล่าว่า .. คน บางปลาม้า  เป็นคนโอบอ้อมอารีย์  ใข้ชีวิตแบบเรียบง่าย สมถะ  แต่ขยัน ทำมาหากิน คนบางปลาม้า ส่วนใหญ่ จึงมีฐานะดี  ทำนาปรังกันปีละสองครั้ง  เสร็จจากทำนาก็ทอดแห  ลงเบ็ด ลงข่าย หาปลา ตกกุ้ง  มาทำอาหารกิน  มีรายรับมาก  แต่มีรายจ่ายน้อย จึงมีเงินออม  บ้านเรือนส่วนใหญ่ เป็นบ้านเรือนไทย ใต้ถุนสูง  ฤดูน้ำหลาก  น้ำท่วมใต้ถุนบ้าน   ก็นำเรือแปะมาใช้กัน ใช้พายไปมาหาสู่กัน ไปทำบุญที่วัด  ไปซื้อกับข้าว  ไปหาปลา มีประเพณีที่สำคัญ ได้แก่  ประเพณีตักบาตรกลางน้ำ  ของชาวตำบลบ้านแหลม  และตำบลตะค่า  เป็นประเพณีสำคัญ ที่ทำกันมานาน  นอกจากความเรียบง่าย ที่เป็นวิถีชุมชน ของคนบางปลาม้า แล้ว บางปลาม้า ยังเป็นดินแดน ที่เป็นถิ่นเกิด ของ  คนดี มีคุณธรรม  ” ที่สำคัญ ได้แก่  หมอบุญเอื้อ พลตรีบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ   อดีตประธานรัฐสภา  นักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ของคนบางปลาม้า  ไวพจน์  เพชรสุพรรณ  ศิลปินแห่งชาติ  เพชรน้ำเอก ของคนบางปลาม้า และ เสรีย์ รุ่งสว่าง  ศิลปินในดวงใจ ของใครหลายๆคน  เจ้าของบทเพลง  จดหมายจากแม่ และ อเมซิ่งสุพรรณ ฯลฯ  วาณิช จรุงกิจอนันต์   คนบางปลาม้า  กวีซีไรต์ เจ้าของ รางวัล วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือซีไรต์ ประจำปี 2527 
 
 
 
 
                 " ผมได้นำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  "  มาใช้ ที่บางปลาม้า เพราะเห็นว่า  น่าจะเหมาะสม กับ วิถีชีวิต ของคนบางปลาม้า  ทำให้ที่นี่ กลายเป็น ชุมชนต้นแบบ  หมู่บ้าน อยู่เย็น เป็นสุข  ”  ได้รับรางวัลโล่พระราชทาน จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ถึง 6 ปีซ้อน  ผมผูกพันกับที่นี่มาก  จนต้องลงหลักปักฐาน สร้างบ้านอยู่ที่นี่  ในบ้านปลายของชีวิตหลังเกษียณอายุราชการ ในวันที่  30 กันยายน  2556  ที่จะถึงนี้   
  ตลาดร้อยปี  บ้านเก้าห้อง 

 
   

  
                ด้าน ผลงานเพลง ชุด เอกลักษณ์บางปลาม้า   ผมมีแนวคิดอยากให้เป็นเพลงพื้นบ้าน เพลงประจำถิ่น ที่เด็กๆก็สามารถร้องกันได้  เพราะจะได้ เป็นการรวบรวม เรื่องราวของคนบางปลาม้า มาสร้างสรรค์ เป็นบทเพลง สู่ท่วงทำนองเพลง ที่จะถูกจารึก และ จดจำกันไป ตราบนานเท่านาน  มี อาจารย์นิ่มนวล หาญทนงค์  ข้าราชการบำนาญ  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทย  ของอำเภอบางปลาม้า มาเป็น บริบท เอก  ได้  ไวพจน์ เพชรสุพรรณ  ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง  คนบางปลาม้า  มาเป็นแม่งาน ด้านการทำเพลง  สำหรับผู้สนับสนุน  ให้เกิดผลงานชิ้นนี้ขึ้น  ในนามอำเภอบางปลาม้า ต้องขอขอบคุณ ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอบางปลาม้า  กำนันจำรัส ราชสิงห์  คุณสมพงษ์  สุนทรธรรม  คุณวินัย  สารสุวรรณ   คุณอดุลย์ สุธีประเสริฐ  คุณฉัตรชัย  ประเสริฐสุวรรณ  กำนันจริญลักษณ์ อายุวัฒน์  คุณสุรพล  จ่าสะอาด  คุณภูริวัสน์ เจียมเจริญ  คุณกิตติพัฒน์ ฤกษ์สง่า  คุณเพ็ญจันทร์  นาคะประเสริฐ และ คุณณรงค์ ลิ้มจันทร์ทอง


  

                  สำหรับ บทเพลง ชุด เอกลักษณ์บางปลาม้า   ประกอบด้วย  1. เพลงเอกลักษณ์บางปลาม้า ขับร้องโดย  ไวพจน์ เพชรสุพรรณ  2. เพลงคนบางปลาม้า ขับร้อง โดย นายประพันธ์ บุญคุ้ม  3. เพลงของดีบางปลาม้า ขับร้อง โดย  รักชาติ ศิริชัย  4. เพลงบางปลาม้าบ้านพี่  ขับร้อง โดย สดใส รุ่งโพธิ์ทอง  5. เพลงหนุ่มบางปลาม้า  ขับร้อง โดย นพรัตน์ เจริญผล  6. เพลงรักหนุ่มบางปลาม้า ขับร้อง โดย จันทรา ธีรวรรณ 7. เพลง รอพี่ที่บางปลาม้า  ขับร้อง โดย  อร แตงโม   8. เพลงจะกลับไปบางปลาม้า ขับร้อง โดย ประพันธ์ บุญคุ้ม  9. เพลงปลายทางที่บางปลาม้า  ขับร้อง โดย จอมขวัญ กัลยา  10. เพลงสุพรรณเมืองเพลง ขับร้อง โดย เสรีย์ รุ่งสว่าง  11. เพลงเหน่อแต่มีเสน่ห์ ขับร้อง โดย  ศรเพชร  ศรสุพรรณ  12. เพลงคนสุพรรณ  ขับร้อง โดย ดำรง  วงศ์ทอง  13. เพลงรำวงสุพรรณบุรี  ขับร้อง โดย เด่นชัย สายสุพรรณ  14. บางปลาม้ามาแล้ว ขับร้อง โดย ขวัญจิต ศรีประจันต์
                บทส่งท้าย  นายประพันธ์ บุญคุ้ม  นายอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี  พร้อมด้วย คุณนายสุเทียม บุญคุ้ม  นายดุษฏี บุญคุ้ม นางสาว ชลาธาร บุญคุ้   ในนาม    ครอบครัวบุญคุ้ม    ขอถือโอกาสนี้ ขอบคุณ ชาวบางปลาม้า  ที่ให้การต้อนรับ อย่างอบอุ่น  ตั้งแต่วันที่ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งนายอำเภอบางปลาม้า เมื่อปี 2550  จนถึงวันนี้ กว่า  6 ปี ที่ได้  ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมพัฒนา    จน อำเภอบางปลาม้า มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับ โดยทั่วไป แต่ที่สำคัญ เหนือสิ่งอื่นใด  คือ  ความเป็นอยู่ที่ดี ของ พี่น้องชาวบางปลาม้า  ภายใต้ร่มพระบารมี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และ พระบรมวงศานุวงศ์  ทุกพระองค์  ทำให้ชาวบางปลาม้า  มีชีวิตความเป็นอยู่ ที่ดี ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้โครงการ  หมู่บ้าน อยู่เย็น เป็นสุข   และ เหนือสิ่งอื่นใด  ครอบครัวบุญคุ้ม   ขอกราบขอบพระคุณ ฯพณฯ พลตรีบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ  อดีตประธานรัฐสภา  ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ ดูแล  ตั้งแต่วันที่เข้ามารับตำแหน่ง  จนถึงวันนี้  วันของการเข้ามาเป็น คนบางปลาม้า อย่างเต็มตัว 
              เรวัติ  น้อยวิจิตร  สุพรรณอินชัวร์ดอทคอม  เรียบเรียง  rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น